20 March 2004

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอถึงการทำให้พนักงานเกิดความทุ่มเทในการทำงาน ในสัปดาห์นี้เรามาต่อการในเรื่องของการหาพนักงานที่เหมาะสมเข้ามา เนื่องจากการที่จะทำให้พนักงานเกิดความทุ่มเทในการทำงานได้นั้น องค์กรก็จะต้องเริ่มจากการแสวงหาพนักงานที่มีคุณภาพและเหมาะสมเข้ามาทำงาน ทีนี้คำถามที่สำคัญก็คือเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนที่เราจะว่าจ้างเข้ามานั้นมีคุณภาพและความเหมาะสมตามที่เราต้องการ และคำว่าคุณภาพและความเหมาะสมในที่นี้หมายถึงอะไร? ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูในใจนะครับถ้ามีคนสองประเภท ประเภทแรกจะเป็นพวกที่มองโลกในแง่ดี สามารถมองหาโอกาสและลู่ทางใหม่ๆ ได้ในทุกสถานการณ์ เป็นผู้ที่มีอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา คนพวกนี้จะทำให้คนที่อยู่รอบข้างมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา และการที่มีคนประเภทนี้อยู่จะทำให้คนรอบข้างดีขึ้นในด้านต่างๆ กับบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่สามารถมองในแง่ลบได้ในทุกๆ ประเด็น สามารถที่จะหาเรื่องติได้ในทุกเรื่อง คนประเภทหลังนี้มักจะทำให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวไม่อยากที่จะทำอะไร ท่านผู้อ่านอยากจะได้คนประเภทไหนมาทำงานในองค์กรท่านครับ? ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยนะครับว่าคนที่มีทัศนคติไม่ดีมักจะไม่เป็นที่ต้องการในองค์กรเท่าใด เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะทำให้ความกระตือรือร้น การทำงานเป็นทีม ความกลมเกลียว หรือพลังงานในการทำงานของคนรอบข้างหดหายไป 

การแสวงหาบุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กรนั้น ทักษะและความสามารถเป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องพิจารณาเป็นประการแรกอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญต่อมาก็คือ คนที่เราหามาก็ต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจและทัศนคติในการที่จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย จะต้องเป็นคนที่เหมาะสมที่จะทำงานในองค์กร และความเหมาะสมดังกล่าวไม่ได้หมายถึงแค่ทักษะและความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องเป็นในเรื่องของทัศนคติด้วย โดยส่วนใหญ่เมื่อเรากำหนดคุณลักษณะของบุคลากรที่เราต้องการหามาทำงานในองค์กร เรามักจะมองแต่ในแง่ของคุณวุฒิ ทักษะ ประสบการณ์ แต่เรามักจะลืมปัจจัยที่สำคัญอีกประการซึ่งก็คือทัศนคติของบุคคลผู้นั้นด้วย

คำถามที่มักจะมีต่อก็คือในเมื่อคนที่ไม่มีทัศนคติที่ไม่ดีมักจะไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรต่างๆ แล้วทำไมเราถึงยังรับคนที่มีลักษณะดังกล่าวมาทำงานในองค์กร? มีการบรรยายหรือเขียนถึงกระบวนการในสรรหาและคัดเลือกพนักงานอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือตำราทั่วๆ ไป และผู้บริหารและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานส่วนใหญ่ก็มักจะทำได้ดีตามหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในหลายๆ องค์กรมักจะคัดเลือกพนักงานด้วยกรรมวิธีที่เราเรียกว่า “ระวัง – ยิง – เล็ง (ready – fire – aim)” โดยการ “ระวัง” หมายถึงเรามีตำแหน่งที่จะรับพนักงานใหม่ “ยิง” หมายถึง เราจ้างพนักงานใหม่ที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสม และ “เล็ง” หมายถึงความพยายามที่เราจะปรับทัศนคติและแนวคิดของพนักงานใหม่เหล่านั้นให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา โดยผ่านกระบวนการอบรมและพัฒนาต่างๆ ท่านผู้อ่านลองสังเกตที่องค์กรท่านดูนะครับว่ากระบวนการในการจ้างพนักงานใหม่ของท่านเป็นในลักษณะของ ระวัง – ยิง – เล็ง หรือไม่?

การที่จะจ้างพนักงานที่มีทัศนคติที่เหมาะสมนั้นจะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายบุคคลเท่านั้น แต่น่าจะเป็นประเด็นทางกลยุทธ์อย่างหนึ่งขององค์กรทีเดียว เนื่องจากการที่จะจ้างคนที่เหมาะสมนั้นเราจะต้องเป็นไปในลักษณะของ “ระวัง – เล็ง –ยิง” โดยการระวัง คือการเปิดรับพนักงานใหม่ การเล็งนั้นองค์กรจะต้องมีกระบวนการในการกำหนดคุณลักษณะที่เหมาะสมของพนักงานใหม่ โดยไม่ได้มองแค่ทักษะ คุณสมบัติ หรือประสบการณ์เท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับทัศนคติที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่ และสุดท้ายคือการยิง ซึ่งเมื่อเราทราบถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติของพนักงานใหม่ที่จะเหมาะกับองค์กรแล้ว องค์กรก็จะต้องมีกระบวนการในการสรรหาและคัดเลือกเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรได้พนักงานใหม่ที่มีความเหมาะสม เมื่อได้พนักงานใหม่มาแล้ว ผู้บริหารก็สามารถที่จะมั่นใจได้ว่าคนผู้นั้นจะมีความเหมาะสมและพร้อมที่จะทำงานกับองค์กร ทั้งทางด้านทักษะ ประสบการณ์ ทัศนคติ และความสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร 

องค์กรบางแห่งเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานใหม่ที่เข้ามาจะมีทัศนคติที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรจะมีการฉายวิดีโอให้ผู้สมัครได้เห็นถึงชีวิตการทำงานของพนักงานในบริษัทก่อน เพื่อให้ผู้สมัครสามารถตัดสินใจได้ก่อนว่าตนเองมีความเหมาะสมต่อวัฒนธรรมและแนวทางในการทำงานในองค์กรนั้นๆ หรือไม่ นอกจากนี้แนวโน้มหนึ่งที่มักจะได้ยินกันมากขึ้นก็คือผู้บริหารระดับสูง (หรือบางแห่งสูงที่สุด) จะเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกพนักงานใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำคัญที่ผู้บริหารให้ต่อบุคลากรขององค์กร หรือ การเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกพนักงานใหม่ที่มีทัศนคติและค่านิยมในการทำงานที่สอดคล้องกับการทำงานของบริษัท

ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จได้จะต้องขึ้นอยู่กับบุคลากร และการที่จะมีบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับองค์กรได้ จะต้องเริ่มต้นจากการแสวงหาบุคลากรที่มีคุณภาพและความเหมาะสมเข้ามาไว้ที่องค์กร คำว่าบุคลากรที่มีคุณภาพและความเหมาะสมนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ทักษะ ความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องประกอบไปด้วยทัศนคติและค่านิยมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร