19 July 2002
ในปัจจุบันศาสตร์และองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพได้เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทต่อศาสตร์ในด้านการบริหารและการจัดการมากขึ้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าแนวคิดใหม่ๆ ทางการจัดการหลายประการที่มีพัฒนาการมาจากแนวคิดทางด้านการแพทย์หรือสุขภาพ เช่น ในเรื่องของ Healthy Scorecard ที่ผมได้เคยเสนอไปในบทความนี้ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างBalanced Scorecard โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) กับสุขภาพของพนักงาน โดยหลักในเรื่องของ Healthy Scorecard นั้นมุ่งเน้นที่จะนำเสนอว่าการที่บุคลากรมีทักษะในการทำงานที่ดี พร้อมทั้งการมีขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ดีเกิดขึ้นจากการมีสุขภาพที่ดี และการมีสุขภาพที่ดีนั้นเกิดขึ้นจากภาวะผู้นำและการบริหารองค์กรที่ดี ในสัปดาห์นี้ผมอยากจะนำเสนอแนวคิดทางด้านการจัดการอีกประการหนึ่งที่มีการพัฒนามาจากการศึกษาและวิจัยทางด้านการแพทย์ โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กร แต่มุ่งเน้นที่ตัวบุคลากรในองค์กรเอง โดยมีการนำเสนอหลักการและแนวคิดใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร โดยอาศัยหลักการที่เรียกว่า Organizational Intelligence
แนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากนายแพทย์ Patrick Georges ซึ่งเป็นแพทย์ผ่าตัดสมองอยู่ที่เบลเยี่ยม โดยคุณหมอท่านนี้ได้พยายามทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองคน พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะในการทำงานที่เหมาะสมหรือก่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด คุณหมอท่านนี้กล่าวไว้ว่าโดยปกติความฉลาดของคนเรานั้นมักจะถูกกำหนดด้วยพันธุกรรม ทำให้ระดับ IQของคนแต่ละคนไม่สามารถที่จะเพิ่มพูนได้มากภายหลังจากเกิด ในขณะเดียวกันการศึกษานั้นก็ช่วยทำให้คนเราฉลาดขึ้น แต่มักจะมุ่งเน้นในด้านวิชาการหรือตามตำราเป็นหลัก ทำให้คุณหมอท่านนี้ได้ศึกษาการทำงานของสมองคนและเสนอแนะแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการออกแบบสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม พร้อมทั้งการที่ผู้บริหารและบุคลากรมีวินัยที่ดีในการทำงานจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานและความสามารถในการตัดสินใจได้
จากการศึกษาของคุณหมอท่านนี้พบว่าการทำงานของสมองคนเรามีจุดอ่อนที่สำคัญหลายประการ อาทิเช่น ช่วงสมาธิของเราจะสั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความแตกต่างระหว่างความเร็วในการพูดของผู้พูดกับความเร็วในการคิดของผู้ฟัง ทำให้เกิดเวลาว่างในสมองเกิดขึ้น หรือ เกิดขึ้นจากการที่สมองและสมาธิของเราถูกดึงดูดด้วยใบหน้าของคน เสียงของคน หรือ ตัวหนังสือได้อย่างง่าย ทำให้สมาธิของเราวอกแว่กและสั้นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้สมองของเราจะเก็บข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจได้น้อย อีกทั้งการประมวลผลข้อมูลของสมองเราจะทำได้ช้า ทำให้การรับรู้และจำข้อมูลหลายๆ อย่างเพื่อใช้ในการตัดสินใจร่วมกันเป็นไปได้ลำบาก ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกถึงตัวท่านเองเมื่อกำลังอ่านเอกสารที่ต้องใช้ในการตัดสินใจ และเอกสารนั้นมีอยู่หลายหน้า ท่านผู้อ่านจะต้องพลิกเอกสารนั้นไปมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเมื่ออ่านได้หน้าหนึ่งก็จะลืมอีกหน้า ทำให้ต้องพลิกไปพลิกมาอยู่เรื่อย จนในที่สุดท่านผู้อ่านอาจจะต้องฉีกเอกสารนั้นออกจากกันเพื่อนำมาวางคู่กันและดูพร้อมกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากสมองของเราจะรับรู้ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจได้ดีที่สุดต่อเมื่อเห็นข้อมูลเหล่านั้นพร้อมๆ กัน
จากจุดอ่อนในการทำงานของสมองคนเราที่ Prof. Patrick Georges คิดขึ้นนี้ทำให้เขาได้คิดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานขึ้นมา โดยเรียกว่า Organizational Intelligence ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการทำงานโดยการออกแบบสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อการรับรู้และการทำงานของสมองคน รวมทั้งการที่ผู้บริหารมีวินัยในการทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อทำให้การทำงานของสมองคนเรามีประสิทธิภาพที่สุด โดยคุณหมอ Georges ได้แนะนำแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองคนเราไว้น่าสนใจหลายข้ออาทิเช่น
- เมื่อคนเราอายุมากขึ้น (โดยเฉพาะระหว่างอายุ 45 และ 55) สมองคนเราจะทำงานช้าลงประมาณร้อยละ 15 ดังนั้นถ้าท่านอยู่ในวัยนี้จงหลีกเลี่ยงจากการตัดสินใจต่างๆ ที่ต้องอาศัยความเร็วแต่ให้อาศัยประสบการณ์เป็นตัวที่ช่วยในการตัดสินใจแทน
- ในช่วง 3 ชั่วโมงแรกของวันเป็นช่วงที่ความทรงจำระยะสั้นของคนเรา (ความทรงจำระยะสั้นหรือ Short-term memory เป็นความทรงจำที่เราใช้ในการคิด วิเคราะห์ หรือแก้ไขปัญหา) ดีที่สุด ดังนั้นการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาหรือการวิเคราะห์สิ่งใดก็ตามควรจะทำในช่วงเช้าของแต่ละวัน หลังจากนั้นอีก 10 ชั่วโมงต่อมา สมองของคนเราจะเหมาะสมกับการทำงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมาก หรือเป็นงานที่มีลักษณะสั้นๆ
- การรับทานช็อกโกแลตดำจะเป็นการเพิ่มกรดอมิโนในร่างกายและลดโมเลกุลที่ทำให้เกิดความหดหู่ เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่เราเคยได้ยินมาว่าการกินช็อกโกแลตทำให้คนมีความสุขก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอยหรือเหลวไหล
- การทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ ควรจะหลีกเลี่ยงจากเสียงรบกวนที่เป็นเสียงคน ทั้งนี้เนื่องจากเสียงมนุษย์เป็นเสียงที่รบกวนความสามารถในการทำงานเป็นอย่างมาก ความฉลาด/ความสามารถในการทำงานจะลดลง 1/3 ทั้งนี้เนื่องจากเสียงต่างๆ จะถูกรับรู้ ดูดซับ ประมวลผล และเก็บไว้ในสมองคน ทำให้เนื้อที่ของสมองในการทำงานและตัดสินใจลดน้อยลง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าการถูกรบกวนจากการโทรศัพท์หรือแขกจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ท่านผู้อ่านอาจจะลองดูตัวท่านเองก็ได้ว่าโดยปกติในการทำงานนั้นจะถูกรบกวนบ่อยมากน้อยเพียงใด จากการสำรวจพบว่าสถานที่ทำงานที่เปิดโล่งไม่มีห้องหรือคอกกั้นผู้ทำงานจะถูกรบกวนทุก 6 นาที ห้องทำงานที่เปิดประตูอยู่ตลอดจะถูกรบกวนทุก 12 นาที และห้องทำงานที่ปิดประตูจะถูกรบกวนทุก 24 นาที
- นอกจากในเรื่องของการรบกวนแล้วนายแพทย์ท่านนี้ยังพบว่าระดับเสียงรบกวนในการทำงานที่เรารับได้มากที่สุดคือ 50 เดซิเบล ในขณะที่เสียงรบกวนทั่วๆ ไปในที่ทำงานที่มีลักษณะเปิดโล่งจะอยู่ที่ประมาณ 65 เดซิเบล
- มีการวิจัยและพบว่าหน้าคนและเสียงของคนนั้นทำให้เลือดหมุนเวียนไปที่สมองส่วนหน้าน้อยลงเกือบร้อยละ 50 ดังนั้นในการตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ที่ต้องทำต่อหน้าคนจำนวนมากจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่สูงสุด ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจจะเห็นได้ว่าการตัดสินใจหลายๆ อย่างในห้องประชุมนั้นไม่ใช้การตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากในการประชุมท่านจะต้องเจอหน้าคนและได้ยินเสียงคนตลอดเวลา ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้ไม่เต็มที่
- จะมีช่วงเวลาที่สำคัญสองช่วงในแต่ละวันที่สมองของคนเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ได้แก่ช่วงก่อนเที่ยงและช่วงหลังเที่ยง ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ว่าจริงเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่หิวและอิ่มที่สุดในแต่ละวัน แต่จริงๆ แล้วหลักฐานทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าช่วงก่อนเที่ยงน้ำตาลในเลือดจะน้อยทำให้การตัดสินใจของสมองเราไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร และตอนหลังเที่ยงเลือดที่ควรจะไปเลี้ยงสมองเราจะถูกแบ่งเพื่อไปช่วยกระเพาะของเราย่อยอาหาร
- ปริมาณของแสงสว่างที่เหมาะสมในการทำงานอยู่ที่ประมาณ 500 ลักซ์ (หน่วยวัดความสว่างของแสง) แต่แสงจากเพดานในที่ทำงานส่วนใหญ่จะสว่างไม่ถึง และได้มีการวิจัยที่พบว่าที่แสงสว่าง 400 ลักซ์ผู้บริหารจะมีอัตราความผิดพลาดในการอ่านตัวเลขและข้อมูลประมาณ 7%
เป็นอย่างไรบ้างครับหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Organizational Intelligence ท่านผู้อ่านอาจจะลองนำหลักการเล่านี้ไปใช้ดูนะครับเผื่อจะสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของท่านได้ ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่หลักการคร่าวๆ ที่คุณหมอท่านนี้แนะนำไว้เท่านั้นเอง และคุณหมอท่านนี้ได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในการออกแบบห้องประชุมที่ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกับการทำงานของสมองที่สุด หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อของ Management Cockpit ซึ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เราก็มีอยู่ห้องหนึ่งเพื่อไว้ใช้ในการเรียนการสอน และการอบรม ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาเยี่ยมชมได้ที่ cockpit@acc.chula.ac.th นะครับ
สุดท้ายก่อนจากกันขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ เนื่องจากหลักสูตร MBA ของจุฬามีอายุครบ 20 ปีในปีนี้ ทางหลักสูตรได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี และกิจกรรมหนึ่งคือการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ความเป็นเลิศทางการจัดการในยุคเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้และดิจิตอล” ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม นี้ โดยมีเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายอาทิเช่น E-Business Transformation and Digital Strategies, Customer Value Analysis, Internal Audit and Corporate Governance in the Knowledge Driven Era เป็นต้น ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถโทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดได้ 02-218-5717-8 นะครับ