26 July 2004
ปัจจุบันเราจะได้ยินหลักการในการคิดที่สนับสนุนและส่งเสริมให้พวกเรามองโลกในแง่ดีและคิดในแง่บวก หรือที่เราเรียกว่า Positive Thinking กันมากขึ้นนะครับ บรรดาผู้บริหารหรือนักจิตวิทยาจำนวนมากชอบที่จะบอกให้เรามองโลกในแง่ดีหรือในแง่บวกอยู่ตลอดเวลา เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น หรือ เพื่อช่วยทำให้สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เรียกได้ว่าเราจะต้องยิ้มสู้และมองโลกในแง่ดีในทุกสถานการณ์ ผมเจอผู้บริหารหลายท่านที่มักจะบอกว่าต้องยิ้มสู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือแย่เพียงใด ถ้าเรายิ้มสู้และคิดว่าเราทำได้ เราก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ลุล่วง ฟังดูก็น่าจะเป็นหลักการในการบริหารในเชิงอุดมคตินะครับที่มองทุกอย่างสดใสไปหมด และมองสิ่งต่างๆ ในแง่บวกเสมอ
ทีนี้พอเรามีความเชื่อในเรื่องของการคิดในแง่บวกมากขึ้น เราจะทำอย่างไรกับพวกที่ชอบมองโลกในแง่ร้ายดีครับ? จะต้องเปลี่ยนพวกที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย (Negative Thinking) ให้กลายเป็นพวกที่มองโลกในแง่ให้ดีขึ้น หรือ ถ้าทำไม่ได้พวกที่ชอบมองโลกในแง่ร้ายก็ควรจะจำกัดไว้ไม่ให้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือ ปล่อยไว้เฉยๆ? ผมเองคิดว่าคงไม่ใช่ทั้งสามคำตอบนะครับ เรามาดูกันนะครับแล้วเราจะเห็นว่าการมองหรือคิดในแง่ร้ายไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป แถมในบางครั้งอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับบางสถานการณ์ด้วยซ้ำไป
ก่อนอื่นท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปรอบๆ ตัวท่านเองนะครับ แล้วดูซิว่าท่านมีบุคคลที่รู้จักที่ชอบคิดหรือมองโลกในแง่ร้ายหรือไม่? หรือตัวท่านเองเป็นคนๆ หนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทนี้ พวกที่ชอบคิดหรือมองโลกในแง่ร้ายไม่ใช่คนที่น่ารังเกียจนะครับเพียงแต่พวกเขาจะมีมุมมองหรือกระบวนการในการคิดที่จะคิดถึงความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นเสมอ (อาจจะเรียกได้ว่ามักจะมองสิ่งต่างๆ ในเชิง Worst Case Scenario) ลองดูตัวอย่างของคนประเภทนี้กันนะครับ ถ้าท่านเคยเดินทางไปท่องเที่ยวกับคนที่มีลักษณะนี้ ท่านจะพบว่าเขาจะมีความกังวลตลอดเวลาว่า ถ้าโรงแรมที่ไปพักไฟดับจะทำอย่างไร? หรือ ถ้าทำกระเป๋าเงินหายในต่างประเทศจะทำอย่างไร? หรือ ถ้าเกิดป่วยกระทันหันในต่างประเทศจะทำอย่างไร? ซึ่งทำให้บุคคลประเภทนี้มีการเตรียมพร้อมในทุกๆ สิ่งอย่างรอบคอบและเผื่อเหตุร้ายในทุกสถานการณ์ที่จะเป็นไปได้
หรือ ถ้าท่านชวนเพื่อนที่มีลักษณะดังกล่าวร่วมทุนทำธุรกิจ เพื่อนของท่านจะพยายามหาเหตุผลหรือเหตุการณ์ในทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ที่จะทำให้ธุรกิจล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นที่เกิดจากตัวท่านเอง จากคู่แข่ง ลูกค้า หรือแม้กระทั่งสรรพากร และสุดท้ายธุรกิจท่านก็จะไม่ได้เริ่มต้นซักที
หรือ เมื่อท่านไปรับทานอาหารกับเพื่อนที่มีลักษณะดังกล่าว เขาจะเรียกใบเสร็จมาตรวจดูรายละเอียดของรายการอาหารพร้อมทั้งราคาทุกครั้ง แถมบางครั้งยังควักเครื่องคิดเลขมารวมเงินอีกต่างหาก เนื่องจากกลัวว่าร้านค้าจะคิดเงินผิด ซึ่งในหลายๆ ครั้งเพื่อนของท่านก็สามารถตรวจพบข้อผิดพลาดของร้านอาหารได้จริงๆ (ไม่น่าเชื่อนะครับ แต่เคยเจอบ่อย เพราะถ้าไม่เชื่อ ก็อย่าไปลบหลู่นะครับ ปล่อยเขาไป)
จริงๆ แล้วบุคคลที่มีลักษณะข้างต้นเราจะพบได้ทั่วๆ ไปครับ รอบๆ ข้างผมก็มีอยู่หลายท่านด้วยกัน ผมเองก็ไม่อยากที่จะเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่าพวกที่ชอบมองโลกในแง่ร้ายเสมอไปนะครับ คนกลุ่มนี้เขาก็ไม่ชอบให้ใครเรียกว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายหรอกครับ แต่ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นพวกที่ทำอะไรด้วยความรอบคอบมากกว่า (เคยมีผู้รู้บอกผมว่าจะพบผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวได้ในกลุ่มคนที่เรียนหรือทำงานด้านบัญชีครับ อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ ท่านผู้อ่านจะต้องไปพิสูจน์เองนะครับ)
เรื่องของบุคคลกลุ่มนี้ก็จะไม่มีความแปลกประหลาดอย่างใดหรอกครับถ้าไม่ใช่ว่าในปัจจุบันเรานิยมและให้ความสำคัญกับแนวคิดในเรื่องของ Positive Thinking กันค่อนข้างมาก มีหนังสือเรื่องเกี่ยวกับ Positive Thinking ออกมากันมากมายเต็มไปหมด และในช่วงหลังเราก็ได้รับการสั่งสอนมาตลอดว่าจะต้องมองโลกในแง่ดี จะต้องคิดในสิ่งต่างๆ ในแง่ดีไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ
ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบคนทั้งสองลักษณะดูก็ได้นะครับ ถ้าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย ก่อนการนำเสนองานครั้งสำคัญเขาจะมีการทบทวนอย่างละเอียดและพยายามที่จะหาช่องโหว่หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น มีการเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามทุกคำถามที่จะเข้ามา พร้อมทั้งตรวจเช็คอุปกรณ์และทำการสำรองข้อมูลอย่างเต็มที่ การเตรียมนำเสนองานที่สำคัญนี้ทำให้บุคคลผู้นี้มีความตื่นเต้นและเครียดก่อนการนำเสนองานครั้งสำคัญ ทีนี้เรามาดูพวกมองโลกในแง่ดีกันบ้างนะครับ เขาก็จะเตรียมการนำเสนองานเหมือนกัน แต่เมื่อคิดว่าเตรียมทุกอย่างจนพร้อมแล้ว ก็จะเลิกคิดถึงงานดังกล่าวและอาจจะออกไปชอปปิ้งหรือเดินเล่นก่อนที่จะถึงการนำเสนองานสำคัญ ด้วยความมั่นใจว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี และมั่นใจว่าตนเองจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้
คำถามก็คือท่านผู้อ่านอยากจะได้คนประเภทไหนมาทำงานร่วมกับท่านครับ? พวกแรกที่มองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไว้ก่อน หรือ พวกที่สองที่มองในแง่ดี? ถ้าเปิดตำราเกี่ยวกับพวก Positive Thinking เขาอาจจะแนะนำประเภทที่สองนะครับ แต่ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยหรือความเห็นที่สนับสนุนในคนมองโลกในแง่ลบกันออกมาบ้างแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าการมองสิ่งต่างๆในแง่บวกตลอดเวลาอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีและเหมาะสมที่สุด แต่การที่แต่ละบุคคลจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องสามารถเลือกและปรับใช้กลยุทธ์ในการมองโลกที่แตกต่างกัน ในบางสถานการณ์ก็ควรที่จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ดี แต่ในบางสถานการณ์การมองในแง่ร้ายก็อาจจะให้ประโยชน์มากกว่าการมองในแง่ดีได้นะครับ ในสัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าทำไมการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายหรือแง่ลบก็มีประโยชน์เหมือนกัน