22 August 2002

ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากพอสมควรในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากที่ได้เริ่มนำเอาระบบในการประเมินผลที่ทันสมัยและเป็นระบบเข้ามาใช้ภายในองค์กรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Balanced Scorecard, Key Performance Indicators, Benchmarking, หรือ ห้อง Management Cockpit ซึ่งเนื้อหาของแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ได้มีการนำเสนอในบทความนี้แล้วทั้งสิ้น แนวคิดต่างๆ เหล่านี้มีจุดกำเนิดขึ้นมาเนื่องจากต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ และก็เป็นที่น่ายินดีที่แนวคิดที่มีประโยชน์เหล่านี้ได้เริ่มมีการนำเอามาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานราชการเพิ่มมากขึ้น โดยการแปลงแนวคิดด้านการประเมินผลการดำเนินงานเข้ามาใช้กับระบบราชการนั้นถือว่ามีจุดเริ่มต้นจากทางอเมริกาและอังกฤษที่ได้มีการออกกฎหมายที่บังคับให้หน่วยราชการทุกแห่งได้มีการพัฒนาระบบในการประเมินผลการดำเนินงาน โดยในอเมริกานั้นได้มีการกำหนดออกมาเป็น Government Performance Review Act (GPRA) หรือที่อังกฤษที่ให้หน่วยราชการทุกแห่งมีการทำ Public Service Agreements (PSA)  และเมื่อปีที่แล้วทางรัฐบาลของประธานาธิบดีบุชได้ประกาศออกมาว่าจะมีการสร้าง Scorecard ที่ภายในประกอบด้วยตัวชี้วัด ซึ่งจะมีไฟสัญญาณจราจรสีเขียว เหลือง แดง เอาไว้บ่งบอกให้รู้ถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โดยทางรัฐบาลสหรัฐต้องการให้ประธานาธิบดีของตนสามารถที่จะติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยราชการต่างๆ ว่าเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้หรือไม่

แล้วก็เช่นเดียวกับแนวคิดหรือความเคลื่อนไหวทางด้านการจัดการต่างๆ ที่เริ่มต้นจากโลกตะวันตกแล้วค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาในไทย ปัจจุบันหน่วยราชการของไทยหลายๆ แห่งได้เริ่มที่จะนำแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรมาใช้มากขึ้น หน่วยราชการที่ค่อนข้างจะคึกคักในการนำเอาระบบเหล่านี้เข้ามาใช้ก็หนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งหน่วยราชการและโรงพยาบาลต่างๆ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยหน่วยราชการเหล่านี้ได้นำเอาหลักการของ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับการดำเนินงานขององค์กรกันอย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยและหน่วยราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ในปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้เริ่มพยายามผลักดันให้หน่วยราชการทุกแห่งได้เริ่มมีการนำเอาระบบการประเมินผลการดำเนินงานเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งทางก.พ.ก็คงจะทราบว่าถ้าอยู่ดีๆ ผลักดันให้หน่วยราชการทุกแห่งพัฒนาระบบในการประเมินผลการดำเนินงานขึ้นมาเฉยๆ ก็คงจะไม่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างจริงจังและไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทางก.พ. จึงได้นำเอาแนวคิดของทางธุรกิจเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยได้ริเริ่มให้มีการแจกเงินรางวัลประจำปีให้กับข้าราชการ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโบนัสนั้นเอง)

ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาที่ทางก.พ.มีนโยบายให้หน่วยราชการทุกแห่งได้มีการจัดทำ “การปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการเพื่อขอรับเงินรางวัลประจำปี” โดยหลักการง่ายๆ ก็คือให้หน่วยราชการทุกแห่งเริ่มที่จะมีการประเมินผลการดำเนินงานของตนเอง และหน่วยงานนั้นก็จะได้รับเงินรางวัลประจำปีตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเทียบกับเป้าหมายที่หน่วยงานนั้นๆ ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งในปีนี้ทาง ก.พ.ได้เริ่มดำเนินการเป็นปีที่สองแล้ว โดยวัตถุประสงค์เบื้องต้นคาดว่าทางก.พ. ต้องการที่จะกระตุ้นให้หน่วยราชการทุกแห่งได้มีการบริหารโดยมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ (Result-Based Management) แต่เพื่อกระตุ้นให้หน่วยราชการทุกแห่งได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้มากขึ้นจึงได้นำไปผูกกับการขอรับเงินรางวัลประจำปีของหน่วยราชการต่างๆ

จากหลักการของก.พ.นั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการนำแนวคิดในเรื่องของ Balanced Scorecard เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยในแบบฟอร์มเพื่อการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของส่วนราชการนั้นทาง ก.พ.ได้ให้หน่วยราชการต่างๆ ทำการประเมินผล โดยดูจากมิติที่สำคัญทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ มิติที่ 1 ความสามารถในการบริหารทรัพยากรด้านการเงิน โดยดูจากทั้งความสามารถในการบริหารงบประมาณ และผลสำเร็จของงานหรือโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ มิติที่ 2 ความสามารถในการบริหารภายในของส่วนราชการ มิติที่ 3 คุณภาพของการบริการและความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประโยชน์ มิติที่ 4 การพัฒนาศักยภาพของส่วนราชการ และมิติที่ 5 ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นอย่างไรครับมิติทั้งห้าประการของทางก.พ. ท่านผู้อ่านที่พอจะมีความคุ้นเคยกับหลักการและแนวคิดของ Balanced Scorecard คงจะมองออกว่ามิติทั้ง 5 ข้อนั้นได้มีการดัดแปลงมาจากมิติหรือมุมมองทั้ง 4 ด้านของ Balanced Scorecard ซึ่งได้แก่มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา(Learning and Growth Perspective) แต่แนวคิดของก.พ.นั้นมีมุมมองหรือมิติอีกด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นมาคือในด้านของประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องที่แปลกเนื่องจากภารกิจหลักของหน่วยราชการต่างๆ ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติทั้งนั้น ในปีนี้ทางก.พ.เองก็ได้ให้หน่วยราชการต่างๆ มุ่งเน้นในด้านหลักของการบริหารและการจัดการที่ดี โดยภายใต้มิติสุดท้ายทางก.พ.ให้หน่วยราชการประเมินผลตนเองโดยยึดตามคู่มือ “การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี” ตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่ออกในปี พ.ศ. 2542 โดยประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า

ถ้าท่านผู้อ่านได้พิจารณาอย่างดีแล้วจะพบว่ามิติสุดท้ายของทางก.พ.มีความสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องของ Corporate Governance หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยกันว่า ธรรมารัฐ ธรรมาภิบาล หรือบริษัทภิบาล ที่กำลังเป็นที่ตื่นตัวในแวดวงธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งหลักการทั้งหกประการภายใต้คู่มือการสร้างระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีนั้นมีความสอดคล้องกับหลักของ Good Governance ของทางภาคเอกชนพอสมควร ตัวอย่างเช่นทางนิตยสาร Euromoney ได้มีการจัดลำดับองค์กรในประเทศไทยที่มีคะแนนด้าน Corporate Governance สูงที่สุด โดยการให้คะแนนของทาง Euromoney นั้นพิจารณาจากเกณฑ์ใหญ่ๆ ทั้งหมด 5 ด้านได้แก่ ความโปร่งใสด้านผู้ถือหุ้น ความโปร่งใสด้านการเงิน โครงสร้างของกรรมการบริษัท ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น และ ความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการของผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร จะเห็นได้นะครับว่าหลักการในส่วนนี้ทั้งของส่วนราชการและของธุรกิจเอกชนมีความสอดคล้องกันในระดับหนึ่งพอสมควร

นอกเหนือจากการที่ทางสำนักงาน ก.พ. ได้เริ่มนำเอาระบบการประเมินผลเข้ามาให้หน่วยราชการต่างๆ ได้เริ่มใช้แล้ว ถ้าท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามและศึกษาในหลักการและแนวทางในการจัดโครงสร้างและระบบบริหารราชการที่ทางรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนในวันที่ 1ตุลาคมนี้ ท่านผู้อ่านจะพบว่าทางราชการจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการโดยมุ่งเน้นที่การบริหารเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์มากขึ้น นั้นคือในการวัดผลสำเร็จของหน่วยงานนั้น จะไม่มุ่งเน้นการวัดว่ากิจกรรมต่างๆ ได้มีการดำเนินการแล้วหรือไม่ หรือวัดเพียงแต่ว่าการดำเนินการถูกต้องตามกฎระเบียบ และขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือไม่ แต่ในอนาคตการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการจะต้องวัดว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมและประชาชนอย่างไร ใช้ภาษีที่ประชาชนจ่ายได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลจากการประเมินผลการปฏิบัติงานเหล่านี้จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับการจ่ายผลตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหลักการนี้ก็สอดคล้องกับหลักการที่ทางภาคธุรกิจได้เริ่มนำไปประยุกต์ใช้กันแล้วที่เรียกกันว่า Pay for Performance หรือ Performance Based Pay ถ้าหน่วยราชการสามารถนำเอาหลักการเหล่านี้มาปฏิบัติได้จริง ประเทศไทยคงจะมีการพัฒนาขึ้นไปอีกเยอะนะครับ 

บทความในวันนี้อยากจะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่าหลักการและแนวคิดทางด้านการจัดการสมัยใหม่ทางธุรกิจ สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับการบริหารของหน่วยราชการต่างๆ ได้ ถึงแม้จะไม่สามารถที่จะนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ได้ตรงๆ แต่เพียงแค่การดัดแปลงแนวคิดเหล่านั้นมาใช้กับภาคราชการก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางหน่วยราชการต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คงจะทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่พอสมควร ซึ่งสุดท้ายแล้วผลดีย่อมตกสู่ประเทศชาติเป็นสำคัญ