14 February 2004
ปัจจุบันเราจะได้ยินเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์หรือ Vision กันมากจนคำๆ นี้กลายเป็นศัพท์ธรรมดาที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ในทุกองค์กรที่มีโอกาสได้เจอก็จะมีเจ้าคำๆ อยู่ทุกองค์กร แถมในบางองค์กรเราจะเห็นคำๆ นี้แปะไว้ตามข้างผนังหรือเขียนไว้ตามสิ่งต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับถ้าถามหรือเจาะลึกลงไปเราจะพบว่าวิสัยทัศน์ของหลายๆ องค์กรไม่ได้เป็นวิสัยทัศน์ที่แท้จริง แถมกระบวนการในการได้มาซึ่งเจ้าตัววิสัยทัศน์นั้นก็ไม่ได้เป็นกระบวนการในการพัฒนาวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ทำให้ได้สิ่งที่ไม่ใช่วิสัยทัศน์จริงๆ
คงจะต้องเริ่มต้นจากความหมายของวิสัยทัศน์ก่อนนะครับ ในปัจจุบันความสับสนในนิยามศัพท์ต่างๆ มีกันอย่างมากมาย มีคนจำนวนมากที่มีความสับสนระหว่างคำว่าวิสัยทัศน์ ภารกิจ พันธกิจ ค่านิยม ปรัชญา วัตถุประสงค์ เป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กลวิธี นโยบาย ฯลฯ ดูแล้วก็น่าสงสารผู้บริหารและคนทำงานในยุคนี้นะครับ มีอะไรมาให้งงกันได้ไม่รู้จบ (ผมเองก็งงอยู่หลายครั้งเหมือนกันครับ เมื่อไปเจอศัพท์พวกนี้เข้าบ่อยๆ) จริงๆ แล้วผมว่าวิสัยทัศน์หรือ Vision น่าจะเป็นคำที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดนะครับ วิสัยทัศน์จะเป็นการมองไปในอนาคต (Future Perspective) เป็นสิ่งที่จะบอกถึงสิ่งที่องค์กรอยากจะเป็นในอนาคต เป็นการบอกถึงทิศทางขององค์กรในอนาคต จริงๆ ถ้าจะให้ชัดเจนขึ้นเราลองมาดูดีกว่าครับว่าวิสัยทัศน์ไม่ใช่อะไร วิสัยทัศน์ไม่ใช่คำสั่งสอนหรือคติประจำใจขององค์กร ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เต็มไปด้วยความคาดหวัง ข้อสมมติฐาน วิสัยทัศน์ยังไม่มีถูกหรือผิด เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราอยากจะเป็นในอนาคต และวิสัยทัศน์ไม่ควรจะนิ่งด้วย ไม่ใช่กำหนดวิสัยทัศน์แล้วจะใช้ไปจนชั่วนิจนิรันดร์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนกันไปทุกปี ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูวิสัยทัศน์ขององค์กรท่านดูนะครับว่าเป็นไปตามลักษณะข้างต้นหรือไม่
ประโยชน์ของวิสัยทัศน์คงไม่ต้องพูดกันมากนะครับ เนื่องจากมีความชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของการทำให้องค์กรมีทิศทางที่ชัดเจนในการดำเนินงาน ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่ผมเจอในเมืองไทยก็คือกระบวนการในการได้มาซึ่งวิสัยทัศน์ ส่วนใหญ่แล้ววิสัยทัศน์มักจะถูกกำหนดมาจากผู้บริหารสูงสุดหรือกลุ่มผู้บริหาระดับสูง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดหรอกครับ แต่สิ่งที่พบก็คือวิสัยทัศน์ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดมาในลักษณะ Inside-Out มากกว่า Outside-In การคิดแบบ Inside-Out คือการที่ผู้บริหารนั่งกำหนดวิสัยทัศน์จากภายในองค์กร โดยไม่ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กร
การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากการประเมินดูว่าจะมีปัจจัยภายนอกองค์กรอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและองค์กรในอนาคต (ส่วนใหญ่การกำหนดวิสัยทัศน์จะอยู่ที่ไม่เกิน 5 ปีครับ) ปัจจัยภายนอกเหล่านี้อาจจะเป็นในเรื่องของนโยบายของรัฐบาล การเข้ามาของคู่แข่งขันใหม่ๆ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ สภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ เมื่อกำหนดปัจจัยเหล่านี้ได้แล้วเราก็จะต้องกำหนดภาพของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือที่เราเรียกกันว่า Scenario ซึ่งจะเปรียบเหมือนเป็นภาพในอนาคตที่เรามองเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เราอยู่ เมื่อได้ภาพในอนาคตแล้วเราถึงจะกลับมาดูองค์กรของเราได้นะครับว่าเราอยากจะให้องค์กรเราเป็นอย่างไรในอนาคตเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น กระบวนการคิดแบบนี้จะเป็นการมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน ไม่ใช่การนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างแล้วนั่งวาดฝันถึงอนาคตขององค์กร โดยไม่มองถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกต่างๆ และจะทำให้เราได้ภาพที่มีความชัดเจนและเป็นไปได้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะเห็นองค์กรเราเป็นในอนาคต
ผมเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งว่าคุณลักษณะที่ดีของวิสัยทัศน์มีด้วยกันหกประการ ได้แก่ 1) Imaginable หรือภาพฝันในอนาคต 2) Desirable หรือมีความดึงดูดและน่าสนใจสำหรับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน 3) Feasible หรือมีโอกาสของความเป็นไปได้ 4) Focused หรือ มีความชัดเจนเพียงพอที่จะเป็นรากฐานสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญขององค์กร 5) Flexible หรือกว้างเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ 6) Communicable หรือสามารถที่จะสื่อสารได้อย่างง่ายและชัดเจน เคยมีผู้บริหารถามผมเหมือนกันครับว่าวิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องมีกี่บรรทัด จริงๆ ผมมองว่าไม่ได้อยู่ที่ความสั้นหรือความยาวหรอกครับ แต่จะต้องสามารถสื่อสารและอธิบายให้คนอื่นสามารถเข้าใจในวิสัยทัศน์นั้นในช่วงเวลาเพียงห้านาทีน่าจะมีความสำคัญมากกว่าความยาวหรือสั้นของวิสัยทัศน์
การกำหนดวิสัยทัศน์เป็นเพียงแค่ขั้นแรกเท่านั้นนะครับ เมื่อเรามีวิสัยทัศน์ที่ดีแล้วโจทย์ใหญ่ยังอยู่ที่การสื่อสารและถ่ายทอดวิสัยทัศน์นั้นให้เป็นที่รับรู้ของคนทั้งองค์กร อีกทั้งจะต้องกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อที่จะทำให้องค์กรสามารถบรรลุต่อวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ ปัญหาหนึ่งที่ผมเจอก็คือหลายองค์กรมีวิสัยทัศน์เพื่อเขียนขึ้นมาเพื่อโก้ๆ ให้ดูดี แต่การตัดสินใจที่สำคัญๆ ขององค์กรจะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ดังกล่าว วิสัยทัศน์กลายเป็นสิ่งโก้ๆ ที่ติดไว้ข้างผนัง ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวบุคลากรภายในองค์กรหรอกครับ แต่อาจจะเกิดจากวิสัยทัศน์ขององค์กรไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้กลายเป็นพื้นฐานหรือจุดอ้างอิงที่จะช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจ ผมมักจะเจอองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างและฝันเกินไปจนไม่สามารถนำมาวิสัยทัศน์มาใช้เป็นประโยชน์ในการชี้นำองค์กรได้ วิสัยทัศน์ที่เรามักจะเจอบ่อยๆ แล้วผมคิดว่ามีความกว้างเกินไปจนไม่สามารถนำมาช่วยในการตัดสินใจอะไรได้ก็คือ “การเป็นผู้นำในธุรกิจ…………ในประเทศหรือภูมิภาค”
ท่านผู้อ่านอย่าลืมกลับไปดูวิสัยทัศน์ของท่านนะครับ แล้วดูว่าวิสัยทัศน์ที่มีอยู่มีประโยชน์ต่อองค์กรหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์กันใหม่