7 June 2003

ช่วงนี้ดูเหมือนรายงานประจำปี 2545 ของบริษัทต่างๆ จะเริ่มทยอยออกมาหมดแล้ว ซึ่งรายงานประจำปีของบริษัทส่วนใหญ่ก็จะเหมือนๆ เดิม ยกเว้นกรณีของธนาคารกสิกรไทยที่ออกมาแล้วสร้างความฮือฮาได้ในระดับหนึ่ง ความฮือฮาดังกล่าวมาจากเนื้อหาที่นำเสนอในรายงานประจำปี นั้นคือแทนที่จะมีข้อมูลและเนื้อหาตามรูปแบบรายงานประจำปีทั่วๆ ไป แต่ได้นำเสนอถึงรายละเอียดของยุทธศาสตร์ของธนาคารผ่านทาง Balanced Scorecard เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้รับทราบถึงทิศทางและยุทธศาสตร์ของธนาคาร นอกจากนี้ยังนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายในด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีลักษณะแบบ Performance-Based Organization 

การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ในรายงานประจำปีถือว่าฉีกออกจากรูปแบบเดิมๆ ที่เราพบในรายงานประจำปีทั่วๆ ไป และเป็นแนวโน้มหนึ่งที่คงจะมีมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากความตื่นตัวในเรื่องของการบริหารองค์กรให้โปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทางธนาคารกสิกรไทยทำไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในต่างประเทศ เนื่องจากความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจต่างประเทศในด้านมีกันมาพอสมควรแล้ว แถมในต่างประเทศถึงขั้นเปิดเผยตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านการเงินด้วย

ตัวชี้วัดและผลการดำเนินงานที่เปิดเผยในรายงานประจำปีจะเป็นตัวเลขทางด้านการเงินเป็นหลัก หรือในกรณีของธนาคารกสิกรไทยถึงแม้จะเปิดเผยข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านความเสี่ยงต่างๆ ของธนาคาร แต่ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นก็ยังเป็นข้อมูลทางด้านการเงินเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าตัวเลขผลการดำเนินงานด้านการเงินเป็นตัวเลขที่แสดงถึงผลการดำเนินงานหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นหลัก การพิจารณาและวิเคราะห์เพียงแค่ตัวเลขทางด้านการเงิน ทำให้ยากที่จะคาดเดาหรือพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันเกิดความตื่นตัวในการวัดผลการดำเนินงานในด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านการเงินไม่ว่าจะเป็นในด้านของลูกค้า การบริหารงานภายใน หรือด้านคน มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าตัวเลขหรือผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของผลการดำเนินงานในอนาคตได้ นอกจากนี้เราต้องยอมรับถึงความสำคัญของสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ด้วยตัวเลขทางการบัญชีและการเงินว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคุณภาพของบุคลากร ชื่อเสียง ความสามารถในด้านนวัตกรรม ฯลฯ

การเปิดเผยถึงความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินงานที่แท้จริงต่อผู้ถือหุ้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ การเปิดเผยเฉพาะข้อมูลและตัวเลขทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียวเป็นเพียงแค่การเปิดเผยถึงข้อมูลหรือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สะท้อนต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจทางการลงทุนที่ผิดพลาด ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลและผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ด้านการเงินเพียงอย่างเดียวจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญและน่าจะเป็นแนวโน้มที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

บริษัทในยุโรปถือเป็นผู้บุกเบิกในการนำเสนอผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางด้านการเงินในรายงานประจำปี บริษัททางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งชื่อ Celemi ของทางสแกนดิเนเวีย ได้นำเสนอและวิเคราะห์ถึงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ไว้ในรายงานประจำปีมาหลายปีแล้ว ถ้าท่านไปเปิดรายงานประจำปีของบริษัทนี้ดู สิ่งที่จะเจอก็คือตัวเลขของตัวชี้วัดในด้านต่างๆ นอกเหนือจากด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของลูกค้า (อาทิเช่น ดัชนีความพึงพอใจของลูกค้า) ด้านองค์กรและบุคลากร (อาทิเช่น ความพึงพอใจของพนักงาน หรือ อัตราการเข้าออกของพนักงาน) แถมตัวชี้วัดเหล่านี้ยังมีไฟสัญญาณจราจร (เขียว เหลือง แดง) กำกับด้วย เพื่อแสดงว่าการดำเนินงานตามตัวชี้วัดดังกล่าวบรรลุเป้าหมายหรือไม่

บริษัทในสแกนดิเนเวียอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อ Skandia ก็มีการนำเสนอถึงข้อมูลทางด้านHuman Capital (มีผู้เรียกกันโดยทั่วไปว่าทุนมนุษย์) ไว้ในรายงานประจำปีเช่นกัน แนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะทางฝั่งยุโรปเท่านั้น ทาง Financial Accounting Standards Board ของอเมริกาเองก็ได้มีข้อเสนอแนะออกมาให้บริษัทต่างๆ ได้เปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดทางด้านอื่นที่ไม่ใช่ทางด้านการเงินมากขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสภาวะการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ

การนำร่องของธนาคารกสิกรไทยในการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ในรายงานประจำปี ประกอบกับความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเพื่อให้นักลงทุนได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง รวมทั้งการที่ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรได้ตื่นตัวในเรื่องของการประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น คงจะเป็นการจุดประกายให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางด้านการเงินเพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งนักลงทุนและต่อตัวบริษัทเอง