9 February 2003
ถ้าจะสอบถามผู้บริหารถึงแนวคิดและเครื่องมือทางการจัดการที่กำลังเป็นที่นิยมและใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันคงจะมีชื่อของการกำกับดูแลองค์กรที่ดี(Corporate Governance) และ Balanced Scorecard (BSC) อยู่ด้วย การกำกับดูแลองค์กรที่ดีหรือชื่อที่เรียกกันไปหลากหลายว่าธรรมารัฐ หรือธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล นั้นเกิดขึ้นเพื่อให้การบริหารองค์กรมีความโปร่งใสและเกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ถือหุ้น ประชนและบุคลากรภายในองค์กร แนวคิดเรื่องนี้ในต่างประเทศนั้นมักจะมุ่งเน้นที่โครงสร้างและความสัมพันธ์ของคณะกรรมการบริษัทที่ถูกแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นกับตัวผู้บริหารของบริษัทเป็นหลัก แต่พอมาถึงเมืองไทยก็ขยายขอบเขตของแนวคิดนี้กันออกไปพอสมควร ส่วน Balanced Scorecard นั้นก็ถือเป็นเครื่องมือทางการจัดการที่มีกันมานานแล้วแต่เพิ่งมาตื่นตัวในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในประเทศไทยนั้นทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนต่างก็ได้เริ่มนำเอา Balanced Scorecard มาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลองค์กร รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ทุกคนในองค์กรมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์มากขึ้น และสามารถแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ
ถึงแม้ทั้งสองแนวคิดดังกล่าวข้างต้นจะใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ยังมีองค์กรในไทยจำนวนไม่มากนักที่ผสมผสานแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกันและนำมาใช้ร่วมกันส่วนใหญ่ที่ผมเคยเจอนั้นก็เป็นเพียงแค่องค์กรที่มีการทำ BSC แล้วกำหนดวัตถุประสงค์กับตัวชี้วัดในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดีเท่านั้นเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเรื่องของ Good Governance ก็เป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดตัวหนึ่งภายใต้ BSC เท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วองค์กรสามารถที่จะผสมผสานหลักการทั้งสองเข้าด้วยกันและก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้
ปรากฎว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้วทาง Certified Management Accountants of Canada (CMA Canada) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานทางการบัญชีในด้านต่างๆ ของประเทศแคนาดา อีกทั้งยังถือว่าเป็นองค์กรชั้นนำของโลกในการพัฒนาศาสตร์ในด้านของการบัญชี การเงินและการจัดการ ได้ออกแนวทางหรือข้อกำหนดใหม่ที่หวังว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับทั้งตลาดทุนและนักลงทุนภายหลังเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลในองค์กรชั้นนำของอเมริกา โดยภายใต้ข้อกำหนดใหม่นั้นทาง CMA Canada ได้นำเอาหลักการของ Balanced Scorecard เข้ามาผสมผสาน เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้มีเครื่องมือในการกำกับและตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารระดับสูงให้ดำเนินไปตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ และนำไปสู่การบรรลุต่อความต้องการของผู้ถือหุ้นในที่สุด นอกจากนี้ทาง CMA Canada ยังหวังด้วยว่าการนำเอา BSC เข้ามาใช้ในการกำกับดูแลองค์กรนั้นจะช่วยทำให้เกิดเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจสอบและพยากรณ์ทั้งความเสี่ยงและผลการดำเนินงานได้ล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาจริงจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจาก BSC มีการกำหนดวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ภายใต้มุมมองต่างๆ ทั้งสี่ด้าน ประกอบด้วยมุมมองด้านการเงินและผู้ถือหุ้น ด้านลูกค้า ด้านกระบวนการภายใน และด้านการเรียนรู้และพัฒนา โดยความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์ภายใต้แต่ละมุมมองนั้นจะอยู่ในรูปของหลักเหตุและผล ดังนั้นทั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารจะสามารถทราบได้ล่วงหน้าว่าผลการดำเนินงานด้านการเงินจะเป็นอย่างไร โดยดูจากผลทางด้านกระบวนการภายในและลูกค้า
ทาง CMA Canada ยังคาดหวังด้วยว่าการออกข้อกำหนดใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้คณะกรรมการบริษัทได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับกลยุทธ์ขององค์กร ทำให้กรรมการและบริษัทได้มีระบบในการวัดผลที่จะระบุได้ถึงความเสี่ยงที่องค์กรจะเผชิญ ข้อกำหนดนี้จะทำให้รู้เลยว่ากรรมการบริษัทจะมีความรู้และเครื่องมือที่ดีเพียงพอในการที่จะตรวจสอบและทดสอบผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัท การนำข้อกำหนดใหม่นี้มาใช้จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิเช่น ทำให้มีกระบวนการที่ทำให้คณะกรรมการบริษัทมีข้อมุลทางด้านกลยุทธ์ที่ชัดเจนที่จะใช้ตรวจสอบว่าองค์กรกำลังดำเนินงานเพื่อให้บรรลุความคาดหวังของผู้ถือหุ้นหรือไม่ ทำให้ข้อมูลที่นำเสนอให้กับกรรมการบริษัทมีคุณภาพมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางด้านกลยุทธ์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถของกรรมการบริษัททั้งในการดูข้อมูลทางด้านการเงิน การกำหนดกลยุทธ์ รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางขององค์กรและอุตสาหกรรมที่แข่งขันอยู่ เป็นต้น
สิ่งที่ทาง CMA Canada กำหนดออกมานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่พอสมควร เนื่องจากเวลาเรานึกถึง BSC เรามักจะนึกถึงแต่เครื่องมือที่ผู้บริหารนำมาใช้ในการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เป็นหลัก แต่เรามักจะไม่ค่อยนึกถึงว่าสามารถที่จะนำเอาหลักของ Balanced Scorecard มาเป็นเครื่องมือสำหรับคณะกรรมการบริษัทในการกำกับและตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารอีกที ซึ่งถ้านำมาใช้แล้วคงจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือในการกำกับดูแลองค์กรให้กับคณะกรรมการบริษัทได้อีกเยอะพอสมควร แต่ก็ต้องระวังไว้นิดเหมือนกันนะครับว่าไม่ใช่พอเอามาใช้แล้ว คณะกรรมการบริษัทจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานภายในของบริษัทจนกระทั่งเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า Micro Management หรือถ้าภาษาไทยแบบง่ายๆ ก็คือการเข้ามาล้วงลูกมากเกินไป