31 October 2002

ในปัจจุบันมีการพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)” กันมากขึ้น อีกทั้งมีความพยายามที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มากขึ้น จนได้เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นแล้วว่าการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และการจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นจะต้องทำอย่างไร การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นแสดงว่าคนในสังคมจะต้องมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้นหรือไม่? จริงๆ แล้วภายใต้แนวคิดทางด้านการบริหารนั้นคำว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นที่รู้จักกันมานานพอสมควรแล้ว อีกทั้งองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งก็ได้พยายามพัฒนาตนเองให้กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้กันมากขึ้น สำหรับนักบริหารแล้วคำว่าสังคมแห่งการเรียนรู้จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่

 ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว ตั้งแต่เกิดจนโตเราต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ถือเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานของคนเราที่ติดตัวกันมาตั้งแต่เกิด ไม่จำเป็นต้องมีการสอนหรือการฝึกหัด แล้วทำไมแนวคิดของสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้ถึงพึ่งมาฮิตในปัจจุบัน อีกทั้งท่านผู้อ่านอาจจะมีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีความแตกต่างอย่างไรกับการเรียนรู้ของคนเรา

  ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งการปรับแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ให้เข้ากับสังคมและองค์กรมากขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของคนทำให้คนมีการพัฒนามากขึ้น ดังนั้นถ้าสังคมและองค์กรมีการเรียนรู้ย่อมนำไปสู่การพัฒนาของสังคมและองค์กร ประกอบกับในปัจจุบันบริบทในการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศชาติและทางด้านธุรกิจมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริหารในระดับต่างๆ เริ่มเล็งเห็นความสำคัญว่าถ้าประเทศและองค์กรของตนจะสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว สังคมและองค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการทำให้ประเทศและองค์กรเป็นสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้ย่อมเป็นหนทางในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 เป็นอย่างไรครับอ่านดูแล้วน่าสนใจนะครับ ว่าการเป็นสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างไร อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่เขียนง่ายพูดง่าย แต่การที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใด สังคมหรือองค์กรใดจะพัฒนาตนเองเป็นสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารสูงสุดก่อน ถ้าเบอร์หนึ่งไม่เล่นด้วยหรือไม่สนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาทั้งตนเองและองค์กรของตนนั้นคงยากที่จะกระตุ้นให้คนอื่นทำตามได้ นอกจากการสนับสนุนและทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของเบอร์หนึ่งแล้ว ความไม่หลงตัวเองก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารและบุคคลในองค์กรคิดว่าตนเองเก่งกว่าผู้อื่นแล้ว ย่อมมีความเสี่ยงที่จะหยุดเรียนรู้ได้ และเมื่อใดก็ตามที่เราหยุดการเรียนรู้ย่อมทำให้เราหยุดเดินหรือหยุดก้าวไปข้างหน้า และสุดท้ายผู้อื่นย่อมทำให้ผู้อื่นก้าวทันและหนีเราไปได้ (อ่านดูแล้วคล้ายกับโฆษณาสุรายี่ห้อหนึ่งนะครับ)

 จริงๆ แล้วทั้งสังคมและองค์กรไม่ได้ถือเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่จะเกิดการเรียนรู้ได้ แต่การเรียนรู้ของสังคมและองค์กรจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อคนภายในสังคมและองค์กรเกิดการเรียนรู้ ดังนั้นต่อคำถามที่ว่าการเรียนรู้ของสังคมและองค์กรต่างจากการเรียนรู้ของบุคคลหรือไม่นั้น คำตอบก็คือเกิดจากรากฐานเดียวกัน ไม่ว่าสังคมหรือองค์กรจะเรียนรู้ได้ดีเพียงใดนั้นย่อมต้องเริ่มจากการเรียนรู้ของคนในสังคมและองค์กรนั้นๆ ก่อน อย่างไรก็ดีการพัฒนาเพื่อให้เป็นสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถในการเรียนรู้ของบุคคลเพียงอย่างเดียว สังคมและองค์กรจะต้องมีสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรม ระบบและโครงสร้างที่สนับสนุนและเกื้อให้เกิดการเรียนรู้ ต่อให้คนมีความสามารถและขวนขวายที่จะเรียนรู้เพียงใด แต่ถ้าวัฒนธรรมและระบบไม่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แล้ว ความสามารถในการเรียนรู้ของบุคคลอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 

เรามาเริ่มพิจารณาที่ความสามารถในการเรียนรู้ในระดับบุคคลก่อนนะครับ คนเราสามารถที่จะเรียนรู้ได้หลายทาง แต่หนทางแรกที่เรามักจะนึกถึงก่อนเพื่อนคือการเรียนรู้จากการศึกษา จึงไม่ค่อยแปลกใจนะครับที่องค์กรต่างๆ ถึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้วยการอบรมอย่างมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีการศึกษาเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่งที่คนเราจะเรียนรู้ การเรียนรู้ของคนเรานั้นยังอาจจะเกิดขึ้นได้จากวิธีอื่นๆ อีกเช่นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็ย่อมได้ ผมเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้มาแล้วทั้งสิ้น มิฉะนั้นพวกเพลงอกหักทั้งหลายคงจะไม่ได้พร่ำสอนถึงการนำเอาอดีตมาเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคตหรอกครับ ในองค์กรธุรกิจที่สนับสนุนให้คนเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตนั้น จะต้องเริ่มจากการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีระบบที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น เหมือนกับที่เรามักสอนเด็กๆ ครับว่าความผิดพลาดครั้งแรกนั้นยอมรับและให้อภัยได้ แต่เราจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นซ้ำสอง

นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจากการสังเกต การพูดคุย หรือการศึกษา จริงๆ แล้วเรามีการเรียนรู้จากผู้อื่นตั้งแต่สมัยเรายังเด็ก ที่ตอนเราเด็กๆ เรามีการเลียนแบบพฤติกรรมและท่าทางของบิดามารดาเรา การเรียนรู้ในลักษณะนี้ในปัจจุบันจะสอดคล้องกับหลักการทางการจัดการที่นิยมกันมากประการหนึ่งคือการทำ Benchmarking นั้นเอง หลักของ Benchmarking คือการเรียนรู้จากองค์กรอื่นที่เก่งกว่าเราในด้านนั้นๆ การเรียนรู้ยังเกิดขึ้นจากการทดลองของเรา เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก อันนี้ก็ตรงกับเรื่องราวของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้โดยการทดลอง สุดท้ายเราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากจากการได้พูดคุยกับผู้อื่น ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเพียงแค่ได้พูดคุยกับผู้ที่เก่งหรือฉลาดกว่าเราก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งหลายๆ อย่าง เหมือนกับคำกล่าวของคนโบราณที่บอกว่ายิ่งคบกับปราชญ์เท่าใดยิ่งทำให้เราฉลาดยิ่งขึ้นเท่านั้น

แนวทางหรือวิธีการเรียนรู้ที่นำเสนอข้างต้น เป็นการเรียนรู้ในระดับบุคคล แต่ภายใต้นิยามขององค์กรหรือสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น การที่บุคคลจะสามารถเรียนรู้ได้เพียงใดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละคนเพียงอย่างเดียว สภาวะแวดล้อมและบริบทของทั้งสังคมและองค์กรจะต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้วย หรืออีกนัยหนึ่งคือจะต้องมีทั้งวัฒนธรรม (ทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร) ที่จะต้องสนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมและความสามารถในการเรียนรู้ รวมทั้งการมีระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้บุคคลทั้งในประเทศและองค์กรได้เกิดการเรียนรู้

สังคมหรือองค์กรจะเป็นสังคมและองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ คงไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่ลมปากเท่านั้นครับ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นผู้ชี้นำและสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา รวมทั้งการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่กระตุ้นและเปิดโอกาสให้คนในสังคมหรือองค์กรได้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ คนในสังคมและองค์กรเองก็จะต้องร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมและองค์กร

 และให้นำบทเรียนจากความทั้งกระตุ้นและสนับสนุนให้คนของเขาได้มีการ ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยการศึกษาที่เราคุ้นเคย หรือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว เหมือนกับที่เพลงอกหักทั้งหลายชอบแต่งให้เราเอาอดีตเป็นเครื่องสอนใจนั้นแหละครับ หรือ เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากผู้อื่น สมัยที่ท่านผู้อ่านเรียนหนังสือคงจะเคยเรียนรู้วิธีการเรียนหนังสือให้ได้ดีจากเพื่อนที่เรียนเก่งๆ นะครับ นั้นก็ถือเป็นการเรียนรู้วิธีหนึ่ง หรือ เราสามารถเรียนรู้ได้จากการทดลองหรือการลองผิดลองถูก พอทดลองหรือทำไปบ่อยๆ เข้าเราก็เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาเอง หรือ เราอาจจะเกิดการเรียนรู้จากการสื่อสารกับผู้อื่น เพียงแค่การพูดคุยกับผู้อื่นและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ได้แล้ว