Photo by NeONBRAND on Unsplash

21 February 2003

ดูเหมือนว่าแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลากำลังเป็นที่นิยมและตื่นตัวกันอย่างมากในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับโรงเรียน การเรียนรู้ขององค์กร หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้ในระดับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ของทีมงานและบุคลากรภายในองค์กรที่พัฒนาจนกลายเป็นแนวคิดที่เราคุ้นเคยกันดีในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ความตื่นตัวในเรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกๆ ระดับต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา อย่างไรก็ดีในปัจจุบันได้เริ่มมีข้อถกเถียงกันมากขึ้นเกี่ยวกับระดับของการเรียนรู้ว่าควรจะมีอย่างต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด มีผลการวิจัยที่ออกมาแล้วว่าการเรียนรู้ที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและตลอดเวลา

J.Stuart Bunderson อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Washington และ Kathleen M. Sutcliffe จากมหาวิทยาลัย Michigan ได้ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทีมงานภายในองค์กรแห่งหนึ่ง โดยแบ่งกลุ่มในการศึกษาเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งมีการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่ได้เรียนรู้และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ในขณะที่กลุ่มที่สองจะยึดมั่นอยู่กับการทำงานในรูปแบบเดิมไปเรื่อยๆ โดยถือคติว่าถ้าอะไรไม่แตกไม่พังก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน ในงานวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยต้องการศึกษาว่าระดับของการเรียนรู้ที่แตกต่างของทั้งสองทีมส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันหรือไม่

ผลการวิจัยครั้งนี้ออกมาน่าสนใจและแตกต่างกับความเชื่อดั้งเดิมของเราพอสมควร ถ้าเป็นอดีตเราก็คิดว่าผลของกลุ่มที่มีการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาควรที่จะมีผลการดำเนินงานดีกว่ากลุ่มที่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เนื่องจากกลุ่มที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และปรับตัวจะสามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีปรากฏว่าผลการทำงานของทั้งสองกลุ่มออกมาดีและบรรลุเป้าหมายทั้งคู่ ซึ่งขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของเรา แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินงานของกลุ่ม จากผลการวิจัยครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าในกลุ่มหรือทีมที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลาอาจจะทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความมุ่งมั่นต่อการเรียนรู้ การทดลองและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา จนทำให้สมาชิกภายในกลุ่มขาดสมาธิ ความมุ่งมั่น และทำให้ไขว้เขวจากเป้าหมายในการทำงานที่แท้จริง ในทีมที่มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และทดลองในสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้มุ่งเน้นในการเรียนรู้ ที่จะใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ในงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ระบุไว้ว่าผลการศึกษาที่พบนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้ในระดับอื่น ที่ไม่ใช่การเรียนรู้ในระดับกลุ่มหรือทีมได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล องค์กร หรือสังคม ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกเหมือนกันว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างองค์กรที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลากับองค์กรที่ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนรู้จะมีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดีงานวิจัยนี้ไม่ได้ต่อต้านการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพียงแต่เสนอว่าในการเรียนรู้ที่ดีนั้นควรจะมีจุดที่เหมาะสม (Optimal Point) โดยก่อนที่จะถึงจุดที่เหมาะสมดังกล่าว ยิ่งเรียนรู้มากจะยิ่งส่งผลต่อการดำเนินงานของกลุ่ม แต่ถ้าเลยจุดที่เหมาะสมแล้วยิ่งเรียนรู้มากขึ้น แทนที่จะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น กลับจะส่งผลร้ายต่อการดำเนินงาน อย่างไรก็ดีจุดที่เหมาะสมนั้นก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละทีมด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของแต่ละกลุ่ม ถ้าเป็นกลุ่มที่อ่อนนั้นยิ่งมีการเรียนรู้มากจะยิ่งส่งผลที่ดีต่อกลุ่ม ทำให้จุดที่เหมาะสมอยู่ไกล แต่ในกลุ่มที่มีขีดความสามารถพร้อมอยู่แล้วนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ที่มากนัก ทำให้จุดที่เหมาะสมอยู่ใกล้และต่ำกว่า

ท่านผู้อ่านอาจจะลองกลับไปดูในกลุ่มหรือองค์กรที่ท่านผู้อ่านอยู่ดูซิครับว่าจุดที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของกลุ่มท่านอยู่ ณ จุดไหน ซึ่งถ้าสามารถหาจุดที่เหมาะสมได้ก็ย่อมสามารถวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในการเรียนรู้ที่เหมาะสมได้ แนวคิดนี้ไม่ได้มองว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่ระดับของความต่อเนื่องในการเรียนรู้ย่อมอาจจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของแต่ละกลุ่ม พอได้อ่านงานวิจัยชิ้นนี้แล้วพบว่ามีข้อแนะนำที่น่าสนใจบางประการสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่เหมาะสม ได้แก่

1) ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ การทดลอง และการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้บริหารก็ไม่ควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหรือรุนแรงในสิ่งที่ยังสามารถทำงานได้ดีอยู่ การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นไปในลักษณะเล็กๆ น้อยๆ ให้เหมาะสมกับสภาวะที่เปลี่ยนไปมากกว่า มีตัวอย่างกรณีศึกษาหลายประการในกลุ่มที่มีการทำงานที่ดีอยู่แล้วและมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากมายมโหฬารอันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ แทนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่ม กลับส่งผลในทางลบ ดังนั้นเราคงพอจะสรุปได้ว่าในสิ่งที่ดีอยู่แล้วนั้นการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรจะให้เป็นไปในระดับที่เหมาะสมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

2) ในขณะเดียวกัน ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาถือเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนั้น เนื่องจากผู้บริหารไม่มีอะไรที่จะต้องเสียที่จะเพิ่มความสำคัญของการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนภายในกลุ่ม จะสังเกตเห็นได้ว่าในกลุ่มที่ผลการดำเนินงานไม่ดีจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัดถ้ามุ่งเน้นในเรื่องของการเรียนรู้ ก็พอจะสรุปได้ว่าสำหรับกลุ่มที่ผลงานยังไม่ดีนั้น การเรียนรู้ถือเป็นทางออกที่สำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มได้มีโอกาสพัฒนาให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น

3) สุดท้ายตัวผู้นำของแต่ละกลุ่มเองจะต้องกำหนดทิศทางในเรียนรู้ที่ดีและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเรียนรู้ นวัตกรรม และการทดลองใหม่ๆ กับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การเรียนรู้และพัฒนาเพียงอย่างเดียวจนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ผู้นำของแต่ละกลุ่มจะต้องสามารถแสวงหาจุดที่เหมาะสม (Optimal Point) ในการเรียนรู้ของกลุ่มตนเองให้ได้ ไม่ใช่มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เพียงอย่างเดียวจนลืมประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่ม ดังตัวอย่างผลการวิจัยที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น

ในวันนี้คงพอจะสรุปได้ว่าการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในการเรียนรู้นั้นควรจะต้องพิจารณาสถานภาพของแต่ละกลุ่มก่อนว่าปัจจุบันอยู่ในระดับใด เนื่องจากในกลุ่มแต่ละกลุ่มนั้นมีระดับของจุดที่เหมาะสมในการเรียนรู้ย่อมแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อที่น่าคิดเหมือนกันว่าแนวคิดดังกล่าวข้างต้นจะสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้ขององค์กรได้หรือไม่ แต่ในความเห็นของผมแล้วการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในระดับองค์กรนั้นอาจจะไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เนื่องจากขนาดที่ใหญ่เกินไปและองค์กรเองมีความหลากหลายที่มากกว่าระดับกลุ่ม