2 September 2018
เมื่อนึกถึงคำว่าวัฒนธรรมหรือ Culture นั้น จะมีความคุ้นเคยว่าระดับของวัฒนธรรมจะมีอยู่สองระดับ นั้นคือวัฒนธรรมของประเทศหรือของชนชาติแต่ละชาติ และ วัฒนธรรมองค์กร หรือ Corporate Culture ที่เป็นแนวประพฤติ ปฎิบัติของคนในแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ผมจะเริ่มได้ยิน ได้อ่านเกี่ยวกับคำสองคำมากขึ้น นั้นคือ Culture of Lawfulness หรือที่คณบดีคณะนิติศาสตร์ของจุฬาฯ แปลให้ไว้ว่าเป็น “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” กับ Culture of Good Governance หรือ ที่พอแปลได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล” ซึ่งพบว่าทั้ง Culture of Lawfulness และ Good Governance นั้นเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่ควรจะสร้างให้มีทั้งในระดับประเทศและระดับขององค์กรต่างๆ
ในส่วนของ Culture of Lawfulness หรือ วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกานั้นเป็นการที่คนในสังคม หรือ คนในองค์กรมีแนวประพฤติและปฎิบัติที่เคารพและปฎิบัติตามกฎหมาย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันคือประเทศมีกฎหมาย แต่เนื่องจากคนในสังคมขาดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกานั้น ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ขาดการบังคับใช้ ดังนั้นถ้าเราสามารถส่งเสริมให้คนในสังคมมีวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ก็ควรจะได้รับการบังคับใช้และสังคมก็จะอยู่อย่างสงบมากขึ้น
สำหรับ Culture of Good Governance หรือวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาลนั้น จะมุ่งเน้นไปที่ผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อต้องมีการตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ แล้ว จะต้องมีแนวประพฤติปฎิบัติที่จะนำหลักของธรรมภิบาลมาใช้ในการตัดสินใจและการบริหาร เพราะเมื่อผู้บริหารในระดับต่างๆ ต้องตัดสินใจนั้น ผู้บริหารส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าขอให้ตัดสินใจโดยไม่ขัดกับกฎหมาย หรือ กฎระเบียบที่มีอยู่ แต่เมื่อขาดวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาลแล้ว สิ่งที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือกฎระเบียบนั้นอาจจะขัดกับหลักธรรมาภิบาลก็ย่อมได้
ในสังคมและองค์กรทั่วๆ ไปเราจะพบเห็นพฤติกรรมและการตัดสินใจที่แสดงถึงการขาดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น การจอดรถในที่ห้ามจอดที่เป็นการกีดขวางทางจราจรของผู้อื่น หรือ การตัดสินใจทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องและขาดความโปร่งใส หรือ การคอร์รัปชั่น (ประการสุดท้ายถือว่าขาดทั้งวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและธรรมาภิบาล)
ความท้าทายที่สำคัญคือ เราจะส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงสังคมไทย และองค์กรต่างๆ ให้มีวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและธรรมาภิบาลได้อย่างไร? ถ้าว่าตามหลักการบริหารองค์กรนั้น การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้ จะต้องมีตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสี่ประการ ได้แก่ ๑. การกำหนดเป้าที่ชัดเจนว่าอยากจะเห็นวัฒนธรรมองค์กรเป็นในลักษณะใด ๒. หา คัดเลือกและพัฒนา ผู้นำในระดับต่างๆ ที่มีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะของวัฒนธรรมที่ต้องการ ๓. การมีกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และ ๔. การออกแบบองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการ
จะเห็นได้ว่าหลักการและแนวคิดในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรนั้นยากที่จะนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางสังคมทั้งสองประการข้างต้น อย่างไรก็ดี ถ้าแต่ละองค์กร แต่ละหน่วยงาน แต่ละครอบครัว เริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและธรรมาภิบาลได้ วัฒนธรรมทางสังคมทั้งสองประการ ก็ย่อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล
การสร้างวัฒนธรรมแห่งธรรมภิบาลนั้นเริ่มได้ตั้งแต่การผสมผสานเรื่องของธรรมาภิบาลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ตามด้วยการประพฤติตนของผู้บริหารตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัทจนถึงผู้บริหารระดับต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และในปัจจุบันได้เริ่มมีแนวคิดของการนำระบบดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม กำกับ และควบคุม การดำเนินงานต่างๆ ในองค์กรให้เป็นไปด้วยหลักธรรมาภิบาล
ขอฝากเรื่องวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและธรรมาภิบาลไว้ด้วยนะครับ