
24 June 2018
แนวโน้มบนโลกดิจิทัลเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา และล่าสุด Kleiner Perkins ซึ่งเป็นบริษัท Venture Capital ชื่อดังในอเมริกาได้ออกรายงานชิ้นหนึ่งและเผยแพร่ไปทั่วโลกภายใต้ชื่อ 2018 Internet Trends ซึ่งมีความหนาเกือบ 300 หน้า โดยในรายงานดังกล่าว เริ่มจากชี้ให้เห็นถึงปริมาณผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก ที่พบว่าแนวโน้มการเติบน่าจะไม่เพิ่มมากขึ้นแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรกว่า 3.6 พันล้านคนทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก และช่วงหลังอัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็เริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลง
เมื่อดูจากสถิติจำนวน Smartphone ที่มีการขายก็พบว่าไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเลยแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ที่ใช้ Smartphone นั้นน่าจะเริ่มนิ่งแล้วเนื่องจากคนที่มีก็มีหมดแล้วต่อไปก็เป็นการซื้อทดแทนและซื้อของเด็กที่เติบโตขึ้นมาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีเมื่อดูจากตัวเลขจำนวนชั่วโมงในการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตต่อวันนั้นกลับพบว่ามีอัตราที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 4% ปัจจุบันผู้ใหญ่ทั่วๆไปจะเข้าสู่สื่อดิจิทัลผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะอยู่ที่ 5.9 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มจาก 2.7 ชั่วโมงต่อวันเมื่อสิบปีที่แล้วและเมื่อดูจากตัวเลขการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆก็พบว่าในปัจจุบันเกือบ 60% ของปริมาณาการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นผ่านทางช่องทางอิเลกทรอนิกส์ส่วนการซื้อในร้านนั้นจะอยู่ที่แค่ 40% เท่านั้นเอง
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าถึงแม้แนวโน้มของจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจะไม่ได้เพิ่มขึ้น (เมื่อคิดเทียบกับประชากรทั้งโลก) แต่ความเข้มข้นในการใช้งานนั้นเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนชั่วโมงที่ใช้งานและการใช้เป็นเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือแนวโน้มสำคัญปัจจุบันที่คนเข้าอินเตอร์เน็ตนั้นจะหันมาสนใจกับภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอมากขึ้นจากข้อมูลของอีกสำนักวิจัยหนึ่ง (Pew Research) พบว่าสำหรับวัยรุ่นอเมริกานั้น YouTube เป็น Online Platform ที่ใช้กันมากที่สุดตามมาด้วย Instagram Snapchat แล้วถึงค่อยเป็น Facebook นอกจากนี้เมื่อทาง Pew Reseach สอบถามผู้ใหญ่ชาวอเมริกันแล้วก็พบว่า YouTube ก็เป็นอันดับหนึ่งอีกเช่นเดียวกันตามมาด้วย Facebook
ดังนั้นเลยไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทาง Instagram ถึงนำผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนเองเข้าสู่แอพ IG ที่เป็นนิยมกันนั้นคือ IGTV ทำให้บรรดาผู้สร้างเนื้อหาต่างๆบน IG สามารถสร้างวิดีโอด้วยความยาวที่ยาวกว่า IG Story และบรรดานักวิเคราะห์ก็มองเหมือนกันว่าทาง Instagram ออก IGTV มานั้นเพื่อแข่งกับ YouTube โดยตรงเนื่องจากกระแสการดูวิดีโอบนโลกดิจิทัลกำลังมาแรง (ต้องอย่าลืมว่า Instagram เป็นของ Facebook ส่วน YouTube เป็นของ Google)
กระแสความนิยมภาพเคลื่อนไหวบนเน็ตยังแสดงให้เห็นในรูปของวิดีโอเกมอีกด้วยปัจจุบัน platform อย่าง Twitch ก็กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นเกมไปทั่วโลกโดยภายใต้ Twitch เราสามารถเข้าไปดูคนอื่นเล่นเกมส์ต่างๆรวมทั้งให้กำลังใจให้ทิปและพูดคุยกับนักเล่นเกมส์จากทั่วโลกหรือในประเทศไทยเองที่ดาราและเน็ตไอดอลจำนวนมากหันมานิยมเล่น Tik Tok ที่สามารถอัดภาพเคลื่อนไหวของตนเองประกอบท่อนเพลงสั้นๆได้
ความตื่นตัวในการรับชมภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอยังกระจายเข้าสู่โลกของการเรียนรู้ด้วยปัจจุบันแนวคิดในเรื่องของ nano learning ที่เป็นการเรียนรู้ผ่าน e-learning แต่เป็นคลิปสั้นๆเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างของที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาฯเราก็สร้าง platform ของการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ขึ้นมาและปัจจุบันเริ่มเผยแพร่คลิปที่เป็น nano learning ที่มีสาระและความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆที่มีความยาวประมาณ 2 นาทีเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแก่นสำคัญในระยะเวลาอันสั้นถ้าสนใจก็ลองเข้าไปดูที่เพจ Space by Chulalongkorn Business School ได้บน Facebook ครับ