29 April 2018
กระแสเรื่องของ Disruption เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่จะเกิดขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรมหรือแต่ละธุรกิจช้าหรือเร็วเท่านั้น สำหรับในด้านการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยก็หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน ถึงแม้การถูก Disrupt จะมาช้ากว่าภาคเอกชน แต่สุดท้ายกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็กำลังคืบคลานเข้ามา และที่น่าสนใจต่อไปอีกคือภายใต้แต่ละศาสตร์หรือสาขาของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ความเร็วและความรุนแรงในการถูก Disrupt ก็จะแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นศาสตร์หรือสาขาวิชาไหนปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่ได้เข้ามา Disrupt การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกนั้นจะคล้ายๆกันเริ่มต้นจากพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นการสอนในห้องเรียนแบบเดิมหรือการสอนผ่านระบบออนไลน์ต่างๆนอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรในประเทศไทยและอีกหลายๆประเทศที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงทำให้ปริมาณนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาลดน้อยลงซึ่งส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยจำนวนมากในการรับนักศึกษารุ่นใหม่ในแต่ละปี
นอกจากนี้พฤติกรรมและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนรุ่น Gen Z ที่กำลังเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันสำหรับคนรุ่นนี้ปริญญาหรือการศึกษาอย่างเป็นทางการผ่านระบบมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่มองหาอีกต่อไปในเมื่อมีทางเลือกอย่างมากมายสำหรับการแสวงหาความรู้หรือคำตอบที่ต้องการประกอบกับความคาดหวังและความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตก็เปลี่ยนไปจากในอดีตองค์กรต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจที่ตนเองก็กำลังถูก Disrupt) ไม่ได้ต้องการบัณฑิตที่มีเพียงแต่ความรู้ตามตำราหรือในทฤษฎีเท่านั้นแต่ผู้จ้างงานให้ความสนใจต่อทักษะมากกว่าและเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการทำงานในโลกอนาคต
ปัจจัยอีกประการที่กำลังเข้ามา Disrupt มหาวิทยาลัยคือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ตัว “ความรู้” ที่บัณฑิตได้รับจากการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้ในการทำงานประกอบอาชีพไปจนบุคคลผู้นั้นเกษียณอีกต่อไปอีกทั้งสำหรับคนรู้ใหม่แล้วความรู้ในศาสตร์สาขาเดียวจะไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพในอนาคตได้อีกต่อไปเพราะคนรุ่นใหม่อาจจะเปลี่ยนอาชีพหรือวิชาชีพไปไม่ต่ำกว่า 5 สาขากว่าจะอายุครบ 40
ประกอบกับปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวในการแสวงหาความรู้อีกต่อไปเนื้อหาต่างๆในโลกออนไลน์ถ้ารู้จักที่จะคัดเลือกและสังเคราะห์ดีๆก็ให้ความรู้ที่ไม่ต่างจากเรียนในมหาวิทยาลัยอีกทั้งมีองค์กรหรือรูปแบบทางเลือกใหม่ๆที่นำเสนอความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษใหม่ด้วยรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆในมหาวิทยาลัยดังนั้นถ้าคนที่ไม่ยึดติดกับใบปริญญาหรือชื่อของสถาบันที่จบการศึกษามาในโลกปัจจุบันถือว่ามีทางเลือกอื่นๆอีกมากมายในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ
สุดท้ายบทบาทหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยคือการเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในศาสตร์ต่างๆอย่างไรก็ดีจะเริ่มพบว่าในปัจจุบันได้เริ่มมีองค์กรต่างๆทำหน้าที่ในส่วนนี้แทนมหาวิทยาลัยมากขึ้นทุกขณะไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ต่างๆสถาบันการเงินหน่วยงานของรัฐบริษัทที่ปรึกษาฯลฯที่ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนามากขึ้นและที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือองค์ความรู้ที่องค์กรนอกมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นมานั้นจะสามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ทางสังคมอุตสาหกรรมและธุรกิจได้ดีกว่าเนื่องจากองค์กรเหล่านี้ใกล้ชิดกับปัญหาและพัฒนาองค์ความรู้โดยมองที่ประโยชน์และการใช้งานเป็นหลักไม่ใช่เพื่อการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการเพียงอย่างเดียว
ความท้าทายต่างๆข้างต้นจริงๆแล้วไม่ยากเกินกำลังความสามารถของมหาวิทยาลัยทั้งหลายในการรับมือและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเพียงแต่ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่การทำให้คนมหาวิทยาลัยตระหนักยอมรับเข้าใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงต่างหาก